โรคปริทันต์
โรคปริทันต์ (Periodontal disease)
คือ โรคที่เกิดขึ้นกับ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และ กระดูกเบ้าฟัน ซึ่งเรียกว่า อวัยวะปริทันต์ เป็นโครงสร้างค้ำจุน พยุงและช่วยยึดฟันให้อยู่ในเบ้า เมื่อเกิดโรคปริทันต์อวัยวะเหล่านี้จะเกิดความเสียหาย ทำให้ฟันโยก และฟันหลุดไปในที่สุด
สาเหตุ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คราบจุลินทรีย์หรือคราบพลัค (plaque) จากการสะสมของแบคทีเรีย น้ำลาย และเศษอาหารภายในช่องปาก เป็นแผ่นฟิล์มเหนียว คลุมอยู่ที่ฟัน และร่องเหงือก เกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังจากการแปรงฟัน และสะสมเป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่สมบูรณ์ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการกำจัดออก จะเกิดการสะสมกลายเป็นหินน้ำลาย หรือหินปูน
เชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่อยู่บริเวณร่องเหงือกส่วนใหญ่สามารถสร้างสารพิษ (endotoxin) ที่แพร่กระจายเข้าไปยังหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด และ แพร่กระจายเข้าสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคตับ และ โรคไต
ความรุนแรงของโรคปริทันต์ แบ่งได้ 4 Stages
- stage 1-2 : ระยะแรกของโรคปริทันต์ การอักเสบเกิดขึ้นเฉพาะกับเหงือก (gingivitis) เหงือกมีลักษณะบวมแดง มีเลือดออก และมีหินปูนเล็กน้อย
- stage 3 – 4 : มีกลิ่นปาก มีหินปูนหนา เหงือกร่น เหงือกอักเสบมาก ฟันโยก มีเลือดออก กินอาหารลดลง ไม่เคี้ยวอาหาร เจ็บหรือร้องกัดเมื่อสัมผัสบริเวณปาก พบฝีหรือเป็นแผลเรื้อรังที่ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณใต้ตา ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อเข้าไปยังโพรงรากฟัน เกิดปริทันต์อักเสบ (periodontitis) ทำให้เกิดการสูญเสียฟันในที่สุด
ในแมว หรือสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น Chihuahua, Pomeranian, Poodle, Shih tzu ถ้าเป็นโรคปริทันต์ที่รุนแรงอาจเสี่ยงเกิดภาวะกรามหักได้ การดูแลช่องปากสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคปริทันต์นั้น แบ่งได้หลายระดับตามความรุนแรงของโรค โดยหากมีเหงือกอักเสบเล็กน้อย ไม่มีหินปูน “เพียงเจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากเป็นประจำทุกวัน” หรือหมั่นแปรงฟันให้สัตว์เลี้ยง ก็สามารถช่วยให้สุขภาพช่องปากดีขึ้นได้แล้ว แต่ถ้ารุนแรงควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการขูดหินปูน ถอนฟัน หรือทำรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงต่อไป